ชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการสำหรับผู้สอบบัญชี คืออะไร?

สืบเนื่องจากบทความ “ผู้สอบบัญชีต้องอบรม CPD เพิ่มเป็น 40 ชั่วโมงในปี 2560 แล้วนะ รู้ยัง?” ที่เราเกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ผู้สอบบัญชีจะต้องเก็บชั่วโมง CPD 40 ชั่วโมงต่อปี โดยแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่

(1) “ชั่วโมง CPD แบบเป็นทางการ (Verifiable CPD)” 20 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีหรือการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (อันนี้ปรับขึ้นจากเดิมมา 2 ชั่วโมง จาก 18 ชั่วโมงในปีก่อน)

(2) “ชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการ (Non-Verifiable CPD)” 20 ชั่วโมงต่อปี

และเราได้สัญญากับทุกท่านไว้ว่าจะมาอธิบายเกี่ยวกับ การเก็บชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการ (Non-Verifiable CPD) ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งใหม่และสร้างความวิตกกังวลให้ผู้สอบทุกท่านไม่น้อย ว่าสิ่งนี้มันคืออะไร และเราจะเก็บชั่วโมงนี้ได้อย่างไร


ก่อนอื่น ต้องขออธิบายก่อนว่า ชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการ (Non-Verifiable CPD) นั้น ก็คือ การเรียนรู้โดยอิสระ เพื่อเสริมสร้างความเป็นมืออาชีพในการประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธีตามประเภทกิจกรรมที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด


ถ้าพูดแล้วยังงงๆ เดี๋ยวเราไปดูกิจกรรม “การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพแบบไม่เป็นทางการ” ทั้ง 8 กิจกรรมที่ทางสภาวิชาชีพกำหนดไว้ กันดีกว่าว่าประกอบด้วยอะไรและหลักเกณฑ์การนับชั่วโมงเป็นอย่างไรบ้าง

กิจกรรมที่ 1 การเข้าร่วมอบรมหรือสัมมนา ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหรือวิชาชีพ
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจำนวน ชั่วโมงการเข้าอบรม หรือสัมมนาจริง

กิจกรรมที่ 2 การรับฟังข่าวสารทาง ด้านวิชาการหรือวิชาชีพ ผ่านสื่อต่าง ๆ
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจริง แต่ไม่เกินสองชั่วโมงต่อครั้ง

กิจกรรมที่ 3 การอ่านวารสารวิชาการ หรือบทความต่าง ๆ
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจริง แต่ไม่เกินสองชั่วโมงต่อหนึ่งหัวข้อ

กิจกรรมที่ 4 การเข้าร่วมประชุมหรืออภิปรายกลุ่ม
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจำนวนชั่วโมง การเข้าร่วมประชุมหรือ อภิปรายกลุ่มจริง

กิจกรรมที่ 5 การศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชม การดำเนินงานของกิจการหรือ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้สามชั่วโมงต่อครั้ง

กิจกรรมที่ 6 การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้ช่วยผู้บรรยาย ที่มีความรู้และ ประสบการณ์ ในเรื่องนั้น
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – ช่วงเวลาการเตรียมสื่อการสอนหรือการบรรยายนับได้สองเท่าของชั่วโมง บรรยายจริง และช่วงเวลาการบรรยายนับได้ตามชั่วโมงการบรรยายจริง

กิจกรรมที่ 7 การสัมภาษณ์หรือสอบถามเพื่อ ประโยชน์ทางวิชาการและวิชาชีพ
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจริง แต่ไม่เกินสองชั่วโมง ต่อครั้ง

กิจกรรมที่ 8 การเขียนวารสารวิชาการ หรือบทความต่าง ๆ เผยแพร่ แก่สาธารณชน
หลักเกณฑ์ การนับชม. CPD – นับได้ตามจริง แต่ไม่เกินสามชั่วโมงต่อเรื่อง


จริงๆ แล้ว ทั้ง 8 กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผู้สอบบัญชีมักจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การอ่านวารสารบทความใน FAP Newsletter แต่ว่าเมื่อก่อนเราไม่ได้จดบันทึกและเก็บหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมไว้ ทีนี้ในปี 2560 สิ่งที่ผู้สอบบัญชีต้องทำเพิ่มเติมก็คือ การเก็บหลักฐานเหล่านี้ และการนับชั่วโมงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นรวบรวมและยื่นชั่วโมงผ่านทาง www.fap.or.th ภายในวันสุดท้ายของปี และเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้อย่างน้อย 1 ปี เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราเก็บชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการเรียบร้อยสมบูรณ์แล้วค่ะ

แต่สำหรับหลายๆ คนที่ยังสงสัยว่าเรามีวิธีการเก็บชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการอย่างง่ายๆ และไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะๆ ได้อย่างไรบ้าง ทางทีมงาน CPD Academy จะมาไขข้อข้องใจในบทความถัดไปนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา:
http://www.fap.or.th/images/column_1450324441/Slide%20CPD%20Update%20070260.pdf

#ThaiCPDatHome

source: www.cpdacademy.co