งบแบบไหนน่าจะโดนคุกกี้เสี่ยงทายจากสรรพากร EP2

ใน EP ที่แล้ว เราได้มาบอกกล่าว ตัวเลขในงบกำไรขาดทุนว่าตัวเลขแบบไหนที่มีความเสี่ยง อาจถูกเชิญไปร้องเพลงคุกกี้เสี่ยงทายกับพี่สรรพากรบ้าง

สำหรับใน EP นี้ เรามาดูกันค่ะ ว่าสำหรับงบแสดงฐานะการเงิน หรือที่มักเรียกกันติดปากว่างบดุลนั้น ตัวเลขแบบไหนบ้างที่สรรพากรเห็นแล้วชวนให้สงสัย จนอยากจะชักชวนนมาสัมภาษณ์เสียเหลือเกิน

---------

ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินที่เรานำมาวิเคราะห์กันค่ะ

*ดัดแปลงจากตัวอย่างบางส่วนของเอกสารประกอบการบรรยาย “โครงการสำนักงานบัญชี ก้าวไปพร้อมกับสรรพากร” ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 เผยแพร่โดยกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี

จากภาพตัวอย่างของงบแสดงฐานะการเงิน จะเห็นได้ว่ามีด้วยกันอยู่ 6 ประเด็น ที่น่าสนใจสำหรับสรรพากร ได้แก่

  1. ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น ลดลงกว่า 90% ซึ่งผิดปกติวิสัยของธุรกิจ กรณีนี้ทางสรรพากรอาจจะพิจารณาร่วมกับรายได้ในงบการเงินและการยื่น ภ.พ.30 ว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่

  2. สินค้าคงเหลือลดลงจากปีก่อนจำนวน 12 ล้านบาท หรือ 91% ซึ่งอาจจะต้องเปรียบเทียบกับรายได้ที่บันทึกในงบกำไรขาดทุนว่า มีรายได้จากการประกอบกิจการใกล้เคียงหรือสูงกว่าจำนวนสินค้าคงเหลือที่ลดลงหรือไม่ กรณีที่กิจการไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รายการนี้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนในเรื่องของการบันทึกรายได้และจ่ายภาษีไม่ครบถ้วน

  3. สินทรัพย์ไม่มีตัวตนลดลงกว่า 2.6 ล้านบาท หรือ 72% สรรพากรอาจจะไปดูต่อว่าในระหว่างปีมีการขายหรือตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนถูกต้องหรือไม่และได้รับรู้รายการกำไรหรือขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ รวมทั้งนำรายได้มาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หรือในอีกแง่หนึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงการคำนวณตัดค่าเสื่อมราคาไม่ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด

  4. เงินกู้ยืมระยะยาวของกิจการที่เพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาทหรือ 101% เงินจำนวนนี้อาจทำให้สงสัยได้ว่ากิจการอาจไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริง อาจจะเป็นการหลีกเลี่ยงการบันทึกรายได้ เพื่อที่จะได้เสียภาษีในจำนวนที่น้อยลง

  5. กิจการมีขาดทุนสุทธิกว่า 19 ล้านบาท และขาดทุนสะสมกว่า 32 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้สงสัยการคงอยู่ได้ของกิจการ และสงสัยว่ากิจการบันทึกค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควรหรือไม่ นอกจากนี้กิจการมีการลงทุนเพิ่มในที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันของกิจการที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนค่อนข้างสูง

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายๆ ประเด็นในงบแสดงฐานะการเงินที่เราไม่ได้แสดงนภาพข้างต้น แต่รู้นะว่าพี่สรรพากรเค้าแอบมอง ยกตัวอย่างเช่น

  • กิจการใช้เงินสดในการชำระรายการค้าทุกรายการ หรือบันทึกรายการด้วย บัญชีเงินสดทั้งหมด

  • กิจการมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวนสูง โดยอาจเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือเป็นยอดเงินให้กู้ยืมที่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ในงบการเงิน ซึ่งอาจแสดงให้เห็น ได้ว่า กิจการมีการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

  • กิจการไม่มีเงินให้กู้ยืมกรรมการจริง แต่มีรายการดังกล่าวแสดงในงบการเงิน

  • กิจการมีเงินให้กู้ยืม แต่ไม่มีรายการดอกเบี้ยรับ

  • กิจการมีสินค้าคงเหลือสูงหรือต่ำกว่าข้อเท็จจริง (สินค้าขาด/เกิน)

  • กิจการบันทึกสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือลิสซิ่ง ไม่สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร

  • รายการเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่บันทึกรายการซื้อ ที่เกิดขึ้น

  • กิจการแสดงมูลค่าทุนจดทะเบียนไว้ครบตามจำนวน แต่จากข้อเท็จจริงกิจการ ได้รับช าระค่าหุ้นไม่ครบ และไม่ได้รับรู้เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ รวมทั้งไม่ได้ คิดดอกเบี้ย

---------

อ่านมาจนถึงตรงนี้คงต้องร้องโอ้โหเลยล่ะ เพราะว่างบการเงินนั้น หากไม่ได้บันทึกให้ถูกต้องและแสดงตามข้อเท็จจริง แล้วจะมาตบในงบแสดงฐานะการเงินนั้น ขอบอกเลยว่าตบอย่างไรก็ตบไม่เนียน ยังไงก็ต้องมีช่องโหว่ให้สรรพากรตรวจจับความเสี่ยงอย่างแน่นอน

เผลอๆ จะถูกเชิญไปเต้นท่าโอนิกิริกับท่านสรรพากรก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าคุณอาจจะต้องจ่ายค่าคุกกี้เสี่ยงทายในราคาที่สูงลิบลิ่วเป็นสิ่งตอบแทนนะคะ

#Thaicpdathome #Thaicpdathomearticle

#งบแบบไหนน่าจะโดนคุกกี้เสี่ยงทายจากสรรพกร

ขอบคุณที่มา:

เอกสารประกอบการบรรยาย “โครงการสำนักงานบัญชี ก้าวไปพร้อมกับสรรพากร” ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 เผยแพร่โดยกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี

เอกสารประกอบการบรรยาย “ประเด็นความเสี่ยงจากการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย กองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร

source: www.cpdacademy.co