งบแบบไหนน่าจะโดนคุกกี้เสี่ยงทายจากสรรพากร EP1

แอบมอง “งบ” เธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย…..

หากพี่สรรพากรฮัมเพลงนี้ของสาวๆ BNK48 อยู่ นี่คงเป็นเนื้อร้องเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ในแบบฉบับของเค้า

---------

หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่างบการเงินที่เราส่งพี่สรรพากรเค้าไปนั้น ทุกวันนี้เค้ามีเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์แอบมองงบการเงินของเราอยู่ว่ามีอะไรผิดปกติและมีสัญญาณการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ ถ้าหากมีเยอะๆ ก็อาจจะได้รับคุกกี้เสี่ยงทายเป็นของขวัญจากทางสรรพากรก็เป็นแน่

---------

จริงๆ แล้วจะเรียกว่าพี่สรรพากรเค้าเป็นถ้ำมอง 100% ก็ไม่เชิง ทุกวันนี้พี่เค้าพยายามรณรงค์ให้ผู้ทำบัญชีรวมทั้งผู้ประกอบการทำงบการเงินให้ถูกต้องและยื่นภาษีตามความเป็นจริงกันให้มากขึ้น แถมยังใจดีบอกเรามาอีกว่างบแบบไหนที่เห็นแล้วเสี่ยงที่จะได้รับคุกกี้เสี่ยงทายจากสรรพากรเรียกไปพบกันบ้าง

ว่าแล้วอย่ารอช้า ลองมาดูกันดีกว่าว่างบแบบนี้หน้าตาคุ้นๆ เหมือนงบการเงินที่เราทำอยู่หรือไม่

---------

สำหรับ EP. แรกนี้ เรามาเริ่มกันที่งบกำไรขาดทุน ในภาพด้านล่าง

*ดัดแปลงจากตัวอย่างบางส่วนของเอกสารประกอบการบรรยาย “โครงการสำนักงานบัญชี ก้าวไปพร้อมกับสรรพากร” ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 เผยแพร่โดยกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี

จากภาพตัวอย่างของงบกำไรขาดทุน มี 4 ประเด็นหลักๆ ที่น่าสนใจสำหรับสรรพากร คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงของรายได้จากการส่งเสริมการขายที่ลดลงถึง 100% ถือว่าลดลงอย่างผิดปกติ ทั้งๆ ที่รายได้จากการขายใกล้เคียงจากปีก่อน กิจการบันทึกรายได้จากการส่งเสริมการขายครบหรือไม่ และเงื่อนไขเปลี่ยนไปจากเติมอย่างไร

  2. รายได้อื่นของกิจการเพิ่มขึ้นถึง 1164.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน สรรพากรอาจจะไปเช็คกับ ภพ. 30 และ ภงด. 50 ว่ารายได้ส่วนนี้ได้แสดงครบถ้วนไหม และยังไม่พอเท่านี้ พี่สรรพากรอาจจะเช็คไปถึงความสัมพันธ์กับรายการภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายได้ด้วยว่าตัวเลขรายได้และภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้นสอดคล้องกันหรือไม่นะจ๊ะ

  3. รายได้รวมของกิจการ สัมพันธ์กับยอดที่ยื่นในแบบ ภพ.30 หรือไม่

  4. ต้นทุนขาย ดูแบบผิวเผิน เห็นตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประเด็น หากเปรียบเทียบกับรายได้จากการขาย พบว่าต้นทุนขายในปี 2560 สูงถึง 94% ของรายได้ และปี 2559 อัตราต้นทุนของเป็น 91% ของรายได้ ซึ่งค่อนข้างสูงและอาจจะเป็นไปได้ว่าต้นทุนที่บันทึกในงบนั้นไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของกิจการก็เป็นได้

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายๆ ประเด็นในงบกำไรขาดทุนที่พี่สรรพากรเค้าแอบมอง เช่น

  • การไม่นำรายได้ที่ไม่เสีย vat มารวมในงบการเงิน

  • การไม่รับรู้รายได้จากค่าโฆษณาแลกเปลี่ยน

  • การไม่รับรู้กำไร (ขาดทุน) จากการจำหน่ายสินทรัพย์

  • การไม่ปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุน

  • ค่านายหน้า ค่าส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายพนักงานสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกิจการ

  • กิจการมีรายการค่าใช้จ่าย ไม่เป็นไปตามความจริง หรือไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

---------

เห็นแบบนี้แล้วคงจะต้องไปเช็คงบกำไรขาดทุนของตนกันบ้างล่ะว่าสะสมแต้มความเสี่ยงไว้กี่รายการ

และเราเลือกที่จะแก้ไข หรือคิดว่าไม่เป็นไรตามแบบฉบับของ BNK48 ที่ว่า

เพราะยังไงก็ต้องเสี่ยง รักไม่รักก็ต้องเสี่ยง Please Please Please Oh Baby เป็นเช่นไรก็เป็นกัน

สรรพากรเรียกเมื่อไร ค่อยว่ากัน

---------

ขอบคุณที่มา:

เอกสารประกอบการบรรยาย “โครงการสำนักงานบัญชี ก้าวไปพร้อมกับสรรพากร” ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 เผยแพร่โดยกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี

เอกสารประกอบการบรรยาย “ประเด็นความเสี่ยงจากการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย กองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร

source: www.cpdacademy.co