7 ทักษะที่ผู้สอบบัญชีต้องมี

กว่าจะสอบ CPA ได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่เมื่อสอบ CPA ผ่านแล้วการที่จะอยู่ในอาชีพผู้สอบบัญชีนี้ให้ได้ หลายๆ คนบ่นว่ายากยิ่งกว่าการสอบ CPA ซะอีก เพราะว่าความรู้ที่ต้องมีแล้ว ทักษะความสามารถด้านอื่นๆ ก็จะต้องมีเช่นกัน

จากผลสำรวจของ The People Puzzle โดยความร่วมมือของ Robert Half และ the American Institute of CPAs (AICPA) ได้สรุปไว้ออกมาอย่างน่าสนใจทีเดียวว่า 7 ทักษะที่ผู้สอบบัญชีต้องมีนั่นคือ

ทักษะข้อแรก: ทักษะการบริหารงานและความเป็นผู้นำ

เคยมั้ยเมื่อถึง Year-end ทีไร เมื่อนั้นชีวิตดีๆ ของผู้สอบบัญชีก็หายไป พ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว แฟนและลูกแทบจะไม่ได้เห็นหน้าหลังตะวันตกดิน เพราะเรามัวแต่หมกมุ่นกับการทำงานให้ทัน Deadline

บางคนอาจจะโทษว่าเป็นเพราะลูกค้าที่ให้ข้อมูลมาช้า แต่ถ้ามองในอีกแง่นึง เราเองบริหารงานภายในทีมได้ไม่ดีด้วยหรือเปล่า หรือเป็นผู้นำน้องๆ ในทีมทำงานไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควรหรือเปล่า

ทักษะการบริหารงานและการเป็นผู้นำที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้สอบบัญชีควรมีทักษะนี้ เพื่อที่จะจัดการตารางงานกับลูกค้า จัดการน้องในทีม ชี้นำแนวทางที่เหมาะสมแก่เพื่อนร่วมทีม บริหารเวลาให้งานเสร็จทัน Deadline และที่สำคัญที่สุดบริหารชีวิตให้ Work Life มัน Balance จะได้มีความสุขระหว่างปีบ้างไม่ใช่สุขแค่หลังงบออกนะจ๊ะ

ทักษะข้อที่สอง: ทักษะการพูดในที่สาธารณะ

ผู้สอบบัญชีหลายคนทำงานเก่งมากแต่เขย็ดขยาดต่อการพูดต่อหน้าที่ประชุม หรือต่อหน้าคนหมู่มาก

ทักษะในการนำเสนองานต่อหน้าผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้น เป็นสิ่งที่ผู้สอบบัญชีต้องสามารถทำได้อย่างลื่นไหลและที่สำคัญ เราต้องอธิบายเรื่องที่ยากๆ ให้มันเข้าใจง่ายขึ้น คือพูดจาภาษาคนปกตินั่นเอง

สำหรับใครที่มีจุดอ่อนในเรื่องนี้ อย่าให้มันเป็นจุดอ่อนของเราตลอดไป การฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้ามีโอกาสควรฝึกพูดโดยเริ่มจากกับเพื่อนในทีม กับลูกน้องในออฟฟิศ แล้วค่อยๆ ก้าวไปสู่การนำเสนองานกับลูกค้า ท่องจำไว้ในใจเสมอว่า Practice Makes Perfect.

ทักษะข้อที่สาม: ทักษะความรู้เรื่องภาษี

ถ้าถามผู้ประกอบการว่าระหว่างการบันทึกบัญชีผิดกับยื่นภาษีผิดพวกเค้าเหล่านั้นกลัวอะไรมากกว่ากัน ร้อยทั้งร้อยคงตอบว่ากลัวการยื่นภาษีผิด

แม้ผู้สอบบัญชีไม่ใช่สายงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเรื่องภาษี แต่การที่เรารู้ภาษีมันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย เพราะว่าเราสามารถแนะนำลูกค้าได้ ภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าเราตามทัน และใช้จุดนั้นเป็นจุดแข็ง เพิ่มมูลค่าในการทำงานยังไงลูกค้าก็ Happy มีแต่ Win กับ Win ทั้งสองฝ่าย

ทักษะข้อที่สี่: ทักษะความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ

ลูกค้าสอบบัญชีหลายๆ รายนิยมขอคำแนะนำจากผู้สอบบัญชีในเรื่องธุรกิจของพวกเค้า ดังนั้น ผู้สอบบัญชีนอกจากที่จะรู้เรื่องบัญชีแล้ว ความรู้เรื่องธุรกิจก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

คงมีเพียงไม่กีอาชีพนักที่จะมีประสบการณ์เรียนรู้ธุรกิจหลายๆ ประเภทแบบผู้สอบบัญชี หากเรียนรู้แล้วสามารถไปพัฒนาต่อยอด วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง รวมทั้งให้คำแนะนำลูกค้าได้แบบที่เอาไปใช้ได้จริงมันก็คงดีไม่น้อย

ทักษะข้อที่ห้า: ทักษะเรื่องระบบ

ผู้สอบบัญชีที่สามารถใช้งานระบบต่างๆ ด้านบัญชี ย่อมมีภาษีกว่าผู้สอบบัญชีที่ใช้เป็นแค่ Excel ธรรมดา

ทุกวันนี้โลกก้าวไกล ธุรกิจก็เริ่มหันมาใช้ระบบบัญชีที่มีความหลากหลายและซับซ้อน หากตอนนี้ใครยังไม่รู้จัก ERP, Digital accounting หรือ cloud accounting อาจจะต้องหันกลับมาศึกษากันบ้างแล้วล่ะ

ทักษะข้อที่หก: ทักษะการสื่อสาร

ผู้สอบบัญชีนอกจากที่จะเซ็นต์รับรองหน้ารายงานผู้สอบบัญชีแล้ว ความสามารถในการสื่อสารข้อมูลในหน้ารายงานผู้สอบบัญชีให้รู้เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งตอนนี้มาตรฐานการสอบบัญชีฉบับใหม่ได้เริ่มบังคับใช้สำหรับหน้ารายงานผู้สอบบัญชีที่จะต้องเปิดเผยถึง KAM หรือ Key Audit Matters ว่ามีอะไรบ้างและเราตรวจสอบอย่างไร ยิ่งทำให้การสื่อสารหน้ารายงานผู้สอบบัญชีมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้อย่าลืมว่าทักษะในการฟัง ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจธุรกิจและลูกค้า รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารแบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

ทักษะข้อที่เจ็ด: การแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

เพราะโลกธุรกิจที่หมุนเร็ว การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อก่อนการเกิดขึ้นของร้านค้าออนไลน์ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ แต่ถ้าสมัยนี้ต้องเป็นยุคของ Fintech และ Start-up สำหรับธุรกิจไร้กรอบ ในแง่ของผู้สอบบัญชี เราต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา รวมทั้งการควบคุมภายในที่จะตามมาสำหรับธุรกิจจำพวกนี้

เมื่อใดที่ผู้สอบบัญชีอย่างเราหยุดเรียนรู้ เมื่อนั้นการที่จะ survive อยู่ในวิชาชีพนี้ก็คงจะยาก

Next step

7 ทักษะนี้ไม่ใช่ทักษะที่เกิดมาเฉพาะตัว ดังนั้น ผู้สอบบัญชีควรรีบหาโอกาสพัฒนาก่อนที่จะช้าเกินไป อาจจะเริ่มจะการฝึกฝนด้วยตนเอง หรือว่าลงเรียนคอร์สที่สนใจ ส่วนถ้าใครไม่มีเวลา แต่อยากหาความรู้เริ่มเติมแบบง่ายๆ แนะนำให้ลองลงคอร์สพัฒนาความรู้ต่อเนื่องกับเราที่ www.cpdacademy.co

source: www.cpdacademy.co